Wednesday, August 1, 2012

การปลูกลำไยในประเทศไทย


พื้นที่ปลูกลำไยส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสำหรับการปลูกลำไยเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรได้อย่างดียิ่ง และด้านเทคโนโลยีการปลูกและผลิตเข้าเสริมและพัฒนาไปสู่การผลิตอย่างจริงจัง จึงได้มีการขยายผลการส่งเสริมการปลูกและผลิตไปสู่พื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย รวม 36 จังหวัดของประเทศไทย พื้นที่รวม 423,618 ไร่และมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่มากยิ่งขึ้น
สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมดิน ลำไยสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แม้กระทั่งดินลูกรังแต่ดินที่ลำไยชอบมาก คือดินร่วนปนทราย และดินตะกอนซึ่งเกิดจากตะกอนกรวด หิน ดิน ทราย อินทรีย์วัตถุที่น้ำพัดพามาเกิดการทับถมของอินทรีย์วัตถุ ซึ่งจะสังเกตได้จากต้นลำไยที่ปลูกตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เจริญงอกงามและให้ผลผลิตดี ดินที่ปลูกลำไยควรมีหน้าดินลึก การระบายน้ำดี สำหรับค่าของความเป็นกรด-ด่าง (pH) เท่ากับ 6
อุณหภูมิ โดยทั่วไปลำไยต้องการอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิที่สามารถเจริญเติบโตได้อยู่ระหว่าง 4 - 30 องศาเซลเซียสและต้องการอุณหภูมิต่ำ (10 - 20 องสาเซลเซียส) ในฤดูหนาว ช่วงหนึ่งคือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมเพื่อการออกดอก ซึ่งจะสังเกตว่าถ้าปีไหนอากาศหนาวเย็นนานๆ โดยไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรกลำไยจะมีการออกดอกติดผลดี
น้ำและความชื้น น้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตของต้นลำไยในแหล่งปลูกลำไย ควรมีปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,250 มิลลิเมตรต่อปี และควรมีการกระจายตัวของฝนดีประมาณ 100 - 150 วันต่อปี แต่อย่างไรก็ตามในบางช่วงลำไยต้องการน้ำน้อย คือในช่วงก่อนออกดอกแต่ในช่วงออกดอกติดผลลำไยต้องการน้ำมาก
แสง แหล่งปลูกลำไยต้องโล่งแจ้ง มีแสงแดดส่องตลอดเวลา
พันธุ์ลำไยจากเอกสาร เล่าขานตำนานลำไย” ประยงค์ จึงอยู่สุข (2541 : 1 - 2) เล่าว่า จังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งที่ปลูกลำไยพันธุ์ดีมากที่สุดในประเทศไทย กำเนิดลำไยพันธุ์ดีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ลำไยพันธุ์กะโหลก” ลำไยเท่าที่พบในประเทศไทยแบ่ง กลุ่ม คือ ลำไยป่า ลำไยพื้นเมือง (ลำไยกระดูก) ลำไยพันธุ์ดี (ลำไยกะโหลก) และลำไยเครือ (ลำไยชลบุรี)

ลำไยพันธุ์พื้นเมืองเป็นลำไยที่มีผลเล็ก
 ออกผลดกเป็นพวงมีหลากหลายชนิดแต่เรียกรวมๆ กันว่าลำไยเมือง (ลำไยพันธุ์พื้นเมืองลำไยกระดูก) พบเห็นอยู่ทั่วไปในภาคเหนือและเหลือน้อยเต็มทีเพราะไม่นิยมปลูกและไม่มีราคา

ลำไยที่นิยมปลูกมากที่สุดในขณะนี้คือ ลำไยพันธุ์กะโหลก
 กลุ่มลำไยอีดอหรือถ้าจะเรียกแบบเมืองเหนือก็ต้องเรียกว่า พันธุ์อีดอซึ่งไม่ใช่คำหยาบคายอะไร พืชพันธุ์ใดที่เป็นพันธุ์เบาออกก่อนเขา ภาษาเหนือจะเรียกว่า พันธุ์ดอทั้งนั้น
พันธุ์ลำไยที่พบในปัจจุบันอาจแบ่งได้ ชนิด ตามลักษณะการเจริญเติบโต ลักษณะผล เนื้อ เมล็ด และรสชาติ คือ1. ลำไยเครือหรือลำไยเถา มีลำต้นเลื้อยคล้ายเถาวัลย์ มีผลเล็ก เมล็ดโต เนื้อผลมีกลิ่นคล้ายกำมะถัน ปลูกไว้เป็นไม้ประดับมากกว่ารับประทาน2. ลำไยต้น แบ่งออกเป็น ชนิด คือ 1) ลำไยพันธุ์พื้นเมือง  2) ลำไยกะโหลก มีอยู่หลายพันธุ์ ดังนี้
1) 
พันธุ์ดอ หรืออีดอ 
เป็นลำไยพันธุ์เบา คือออกดอกและเก็บผลก่อนพันธุ์อื่น ชาวสวนนิยมปลูกมากที่สุด ราคาดี เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดี โดยเฉพาะในดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำพอเพียง ทนแล้งและทนน้ำได้ดีปานกลาง พันธุ์ดอแบ่งตามสีของยอดอ่อนได้ ชนิดคืออีดอยอดแดง เจริญเติบโตเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับอีดอยอดเขียว ลำต้นแข็งแรงไม่ฉีกหักได้ง่าย เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนแดง ใบแบนสีแดงปัจจุบันดอยอดแดงไม่ค่อยนิยมปลูก เนื่องจากออกดอกติดผลไม่ดี และเมื่อผลเริ่มสุกถ้าเก็บไม่ทันผลจะร่วงเสียหายมากอีดอยอดเขียว มีลักษณะต้นคล้ายอีดอยอดแดง แต่ใบอ่อนเป็นสีเขียว ออกดอกติดผลง่าย แต่อาจไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ลำไยพันธุ์อีดอยังแบ่งตามลักษณะของก้านช่อผลได้ ชนิด คือ อีดอก้านอ่อน เปลือกของผลจะบาง และอีดอก้านแข็ง เปลือกผลจะหนาผลขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงผลกลมแป้น เบี้ยวยกบ่าข้างเดียว ผิวสีน้ำตาล มีกระหรือตาห่าง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อค่อนข้างเหนียว สีขาวขุ่น เมล็ดขนาดใหญ่ปานกลาง รูปร่างแบนเล็กน้อย
2) พันธุ์ชมพูหรือสีชมพู เป็นลำไยพันธุ์กลาง มีรสชาดดี นิยมรับประทาน ทรงพุ่มต้นสูงโปร่ง กิ่งเปราะหักง่าย การเจริญเติบโตดี ไม่ทนแล้ง เกิดดอกติดผลง่ายปานกลาง การติดผลไม่สม่ำเสมอ ช่อผลยาว ผลขนาดใหญ่ปานกลาง ทรงผลค่อนข้างกลม เบี้ยวเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลอมแดง ผิวเรียบ มีกระสีคล้ำตลอดผล เปลือกหนา แข็งและเปราะ เนื้อหนาปานกลาง นิ่มและกรอบ สีชมพูเรื่อๆ ยิ่งผลแก่จัดสีของเนื้อยิ่งเข้ม เนื้อล่อน รสหวาน กลิ่นหอม เมล็ดค่อนข้างเล็ก
3) 
พันธุ์แห้ว หรืออีแห้ว 
เป็นลำไยพันธุ์หนัก ลำต้นไม่ค่อยแข็งแรง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนแดงเขียว เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีมาก ทนแล้งได้ดี พันธุ์แห้วแบ่งได้เป็น ชนิด คือแห้วยอดแดงและแห้วยอดเขียว ลักษณะแตกต่างกันที่สีของใบอ่อนหรือยอด แห้วยอดแดงมีใบอ่อนเป็นสีแดง แห้วยอดเขียวมีใบอ่อนหรือยอดเป็นสีเขียว เกิดดอกและติดผลค่อนข้างยากอาจให้ผลเว้นปี ช่อดอกสั้น ขนาดผลในช่อมักไม่สม่ำเสมอกัน ผลขนาดใหญ่หรือปานกลาง ทรงผลกลมและเบี้ยว ฐานผลบุ๋ม ผิวสีน้ำตาล มีกระสีคล้ำตลอดผล เปลือกหนา เนื้อหนาแน่น แห้งและกรอบ สีขาวขุ่น รสหวานแหลม กลิ่นหอม มีน้ำปานกลางเมล็ดขนาดค่อนข้างเล็ก แห้วยอดแดงจะออกดอกง่ายกว่าแห้วยอดเขียว และมีเนื้อสีค่อนข้างขุ่นน้อยกว่า และมีปริมาณน้ำมากกว่าแห้วยอดเขียว
4) พันธุ์เบี้ยวเขียวหรืออีเบี้ยวเขียว เป็นลำไยพันธุ์หนักเจริญเติบโตดี ทนแล้งได้ดีแต่มักอ่อนแอต่อโรคพุ่มไม้กวาด เกิดดอกยาก มักเว้นปี ช่อผลหลวม สีของผลเมื่อมีขนาดเล็กสีเขียวพันธุ์เบี้ยวเขียว แบ่งได้เป็น ชนิด เบี้ยวเขียวก้านแข็ง (เบี้ยวเขียวป่าเส้า) และเบี้ยวเขียวก้านอ่อน (เบี้ยวเขียวป่าแดด) เบี้ยวเขียวก้านแข็งให้ผลไม่ดกแต่ขนาดผลใหญ่มาก แต่ติดผลน้อยไม่ค่อยนิยมปลูก ส่วนเบี้ยวเขียวก้านอ่อนให้ผลดกเป็นพวงใหญ่ ผลมีขนาดใหญ่ ทรงผลกลมแบนและเบี้ยวมากเห็นได้ชัด ผิวสีเขียวอมน้ำตาล ผิวเรียบ เปลือกหนาและเหนียว เนื้อหนาแห้งกรอบล่อนง่าย สีขาว มีน้ำน้อย รสหวานแหลม กลิ่นหอม เมล็ดค่อนข้างเล็ก
5) พันธุ์ใบดำหรืออีดำหรือกะโหลกใบดำ เป็นลำไยพันธุ์กลาง ออกดอกติดผลสม่ำเสมอเจริญเติบโตดีมาก ทนแล้งและน้ำได้ดี ข้อเสียคือ ผลโตเต็มที่จะเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ มีผลขนาดใหญ่ปานกลาง. ค่อนข้างกลม แบนและเบี้ยวเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาล ผิวขรุขระ เปลือกหนาและเหนียว ทนทานต่อการขนส่ง เนื้อหนาปานกลาง สีขาวครีม รสหวาน เมล็ดขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างยาวและแบน

6) 
พันธุ์แดงหรืออีแดงกลม 
เป็นลำไยพันธุ์กลาง ผลกลม เนื้อมีกลิ่นคาวคล้ายกำมะถัน ทำให้คุณภาพไม่ค่อยดี การเจริญเติบโตดีปานกลาง ไม่ทนแล้ง และไม่มีน้ำขังจึงล้มง่าย มักยืนตายเมื่อเกิดสภาพน้ำขัง หรือปีที่ติดผลดก พันธุ์แดงแบ่งได้เป็นชนิด คือ แดงเปลือกหนา และแดงเปลือกบาง พันธุ์แดงเกิดดอกและติดผลง่าย ติดผลค่อนข้างคงที่ ผลขนาดใหญ่ปานกลาง ขนาดผลค่อนข้างสม่ำเสมอ ทรงผลกลม ผิวสีน้ำตาลอมแดง ผิวเรียบ เปลือกบาง เนื้อหนาปานกลาง สีขาวครีมเนื้อเหนียว มีน้ำมากจึงมักแฉะ เมล็ดรูปร่างป้อม จุกใหญ่มาก แดงเปลือกหนามีขนาดผลใหญ่กว่า เปลือกหนากว่า เนื้อหนากว่า ส่วนลักษณะอื่นๆ คล้ายคลึงกัน
7) พันธุ์อีเหลืองหรือเหลือง มีทรงพุ่มค่อนข้างกลม ออกผลดก กิ่งเปราะจึงหักง่ายเมื่อมีผลดกมากๆ ผลค่อนข้างกลม เนื้อสีขาวนวล เมล็ดกลม
8) พันธุ์พวงทอง เป็นพันธุ์ที่ช่อดอกขนาดใหญ่กว้าง ผลทรงค่อนข้างกลมและเบี้ยวเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลมีกระสีน้ำตาล เนื้อหนา กรอบ สีขาวครีม รสหวาน เมล็ดขนาดปานกลางและแบน
9) พันธุ์เพชรสาครทวาย จัดว่าเป็นลำไยพันธุ์ทวายคือ สามารถออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี มีใบขนาดเล็ก เรียวแหลม ออกดอกและให้ผลผลิตปีละ รุ่น คือ รุ่นแรกออกดอกราวเดือนธันวาคม - มกราคม และเก็บผลได้ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน รุ่นที่สองออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนธันวาคม – มกราคม ผลกลม เปลือกบาง เนื้อมีสีขาวฉ่ำน้ำ
10) พันธุ์ปู่มาตีนโค้ง มีผลสวยมาก ขนาดใหญ่ สีเขียวให้ผลดก แต่คุณภาพและรสชาติไม่ดี กลิ่นคาว ปัจจุบันพันธุ์นี้ลดลงเป็นอย่างมาก คงมีแต่สวนเก่าๆ ซึ่งมีเพียงบางต้นเท่านั้น
11) พันธุ์ตลับนาค ผลขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลม ผิวเปลือกเรียบ เนื้อหนา สีขาวใส เมล็ดเล็ก รสไม่ค่อยหวานจัด
 
การปลูกลำไย
การเตรียมพื้นที่ปลูก
1) การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไยในที่ลุ่ม
พื้นที่ลุ่มส่วนมากเปลี่ยนจากพื้นที่นาเป็นสวนลำไย ลักษณะพื้นที่นั้นมักมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน สภาพดินเป็นดินเหนียว มีระดับน้ำใต้ดินสูง จึงต้องขุดร่องแล้วดินที่ขุดขึ้นมาถมให้เป็นแปลงสูงพอให้พ้นน้ำท่วมขัง แปลงปลูกควรมีความกว้างประมาณ 6 - 8 เมตร ร่องน้ำระหว่างแปลงกว้างประมาณ 1 - 2 เมตร ลึก 0.5 - 1.5 เมตร ถ้าต้องการดินขึ้นถมแปลงมากๆ ก็ขุดให้ลึก หลังจากขุดเสร็จควรปล่อยให้ดินยุบตัวสักระยะหนึ่งจึงทำการวางระยะปลูก

2) การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไยในที่ดอน
พื้นที่ดอนจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น พื้นที่ป่าเปิดใหม่หรือพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชไร่ การเตรียมพื้นที่ดอนเพื่อทำสวนลำไยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการให้น้ำแก่ต้นลำไย ควรวางแผนและจัดเตรียมหาแหล่งน้ำไว้ให้พร้อมสำหรับอนาคต พร้อมทั้งปลูกพืชบังลม เนื่องจากพื้นที่ดอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชิงเขาลมมักจะพัดแรงจัดถ้าไม่มีการป้องกัน อาจทำให้ต้นลำไยเกิดการโค่นล้มเสียหาย นอกจากนี้ในช่วงหน้าแล้งควรทำแนวกันไฟไว้รอบๆ สวน
3) ระยะปลูก
ระยะปลูกของลำไยมีข้อพิจารณาดังนี้คือ
3.1. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
 โดยปกติดินดีมีความอุดมสมบูรณ์สูงต้นลำไยย่อมจะมีขนาดลำต้นและทรงต้น ตลอดจนการแผ่กระจายของรากกว้างกว่าการปลูกในดินไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ถ้าเป็นที่ลุ่มระดับน้ำใต้ดินสูง การระบายน้ำไม่ค่อยดีควรปลูกระยะชิด เพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อพื้นที่สูง เนื่องจากลำไยที่ปลูกในสภาพเช่นนี้มักอายุไม่ยืน อาจเก็บผลได้ เพียง 5 - 10 ปี
3.2. ขนาดของทรงพุ่ม ลำไยมีนิสัยการออกดอกตรงปลายกิ่ง เมื่อทรงพุ่มชนกัน บริเวณนั้นจะไม่ออกดอก และจะเจริญในด้านความสูงเนื่องจากแก่งแย่งแสง ทำให้ต้นสูงไม่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

3.3. การจัดการ
 ในกรณีที่ต้องการจะปลูกระยะชิดต้องมีการจัดการที่ดีเช่น การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงต้น หรือตัดต้นเว้นต้น เมื่อทรงพุ่มชนกัน ระยะปลูกที่เหมาะสมของลำไยปกติจะอยู่ระหว่าง 8 - 12 x 8 - 12 เมตร แต่ถ้าต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากควรปลูกระยะชิด ซึ่งจะได้จำนวนต้นต่อพื้นที่สูง อาจใช้ระยะ4 x 4 เมตร 5 x 5 เมตร หรือ 6 x 6 เมตรลำไยจะเริ่มออกผลในปีที่ 2 - 3 การปลูกระยะชิดให้ผลผลิตต่อไร่สูงในระยะแรกและเมื่อทรงพุ่มชนกันต้องตัดต้นเว้นต้น จะได้ระยะปลูกเท่ากับ8 x 8 เมตร 10 x 10 เมตร หรือ 12 x 12 เมตร ตามลำดับ

4) การเตรียมหลุมปลูก
ควรดูสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นหลัก ดินสมบูรณ์การเตรียมกลุ่มไม่ต้องลึก (หลุมเล็ก) ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ควรเตรียมหลุมขนาดใหญ่ ถ้าพื้นที่เป็นที่ดินควรขุดหลุมให้กว้างและลึก แต่ถ้าเป็นที่ลุ่มอาจเตรียมหลุมขนาดเล็กหรืออาจเอาดินจากที่อื่นมากองให้เป็นโคกให้มีฐานกว้างประมาณ 1.5 เมตร สูงพันระดับน้ำสูงสุดขึ้นไปอีก เมตร โดยทั่วไปขนาดของหลุมกว้าง ยาว สูง เท่ากับ 0.3 x 0.3 x 0.3 เมตร ถึง 1.0 x 1.0 x 1.0 เมตร เวลาขุดหลุมควรจะแยกดินชั้นบนและดินชั้นล่างนำอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกเก่าๆ ประมาณ บุ้งกี๋ ผสมบนดินที่ขุดขึ้นมาและใส่ร๊อคฟอสเฟต หรือกระดุกป่นอีก 100 กรัม คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดี จากนั้นนำดินชั้นบนใส่ลงก้นหลุม และดินชั้นล่างขึ้นไว้ข้างบน

5) การเลือกพันธุ์ปลูก

พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในปัจจุบันคือ พันธุ์อีดอ รองลงมาได้แก่
 พันธุ์สีชมพู แห้วและเบี้ยวเขียว การเลือกพันธุ์ที่จะนำไปปลูกนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก จะต้องคัดเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นที่ออกดอกติดผลสม่ำเสมอและปราศจากโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพุ่มไม้กวาด ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดเชื้อไปกับกิ่งพันธุ์

6) ฤดูปลูกลำไย

สามารถปลูกได้ตลอดปีแต่ในช่วงที่เหมาะสมคือ ปลายฤดูฝน(กันยายนถึงตุลาคม)
 ซึ่งมีความชื้นในดินและอากาศพอเหมาะลำไยจะเจริญเติบโตได้ดีและไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน แต่จะต้องให้น้ำบ้าง เกษตรกรจังหัดเชียงใหม่และลำพูนมักนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำขังบริเวรหลุมปลูกจึงต้องหมั่นคอยดูแลเมื่อมีน้ำขังต้องระบายน้ำออกจากหลุม

7) วิธีปลูก

ส่วนใหญ่ปลูกด้วยกิ่งตอนซึ่งจะชำในชะลอมไม้ไผ่สาน ทางภาคเหนือ เรียกว่า
 “เป๊าะ” การปลูกจะขุดตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ลึกประมาณ ช่วงจอบ ใส่ฟูราดานรองก้นหลุมประมาณครึ่งช้อนแกง กันปลวกและแมลงในดิน แล้ววางกิ่งพันธุ์ลงทั้งเป๊าะ” กลบดินให้แน่นปักหลักกันลมโยก ในกรณีที่ชำกิ่งตอนลงถุงพลาสติกดำ จะต้องเอาถุงพลาสติกดำออกก่อนแล้วจึงนำกิ่งพันธุ์ลงปลูก

ลำไยนอกฤดูที่จันทบุรี


ตลาดลำไยในจีน

ตลาดลำไยในจีน 


ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตของจีดีพี 8 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความต้องการอุปโภคบริโภค ทำให้ตลาดประเทศไทยได้รับผลดีในการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะธุรกิจไม้ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในนั้นก็คือ ลำไย

จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ลำไยจะขายในตลาดเมืองไทยน้อยลง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้ประกอบการเห็นโอกาสตลาดจีนที่กว้างใหญ่มหาศาล

หากจำภาพในอดีตที่มีกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือตอนบนรวมตัวกันประท้วงเรื่องราคาลำไยบ่อยครั้งเนื่องจากราคาตกต่ำไม่กี่บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อยุค สมัยเปลี่ยนไป ต่างชาติที่ติดใจในรสชาติ ลำไยเนื้อหนา หอมหวานกรอบ โดยเฉพาะ ตลาดในประเทศจีน

การตอบรับของตลาดต่างประเทศ ทำให้ลำไยกลายเป็นสินค้าส่งออกของผู้ค้า ภาคเหนือ ส่งผลให้คนไทยต้องซื้อลำไยในราคาแพงและต้องจ่ายในราคากิโลกรัมละ 30-50 บาท

ดูเหมือนแนวโน้มราคาลำไยจะสูง ขึ้นเป็นลำดับ เมื่อความต้องการในตลาดจีน เวียดนาม เกาหลี เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ เห็นผู้ค้าต่างประเทศบางรายเข้ามาจองซื้อถึงในสวนขณะที่ลำไยยังไม่ออกผล โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจะเห็นพ่อค้าต่าง ชาติเข้ามาพักตามโรงแรมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเพื่อมาดูสวนด้วยตนเอง จึงเห็นได้ว่ามีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ค้าคนไทยและผู้ค้าต่างชาติ


กาญจนา พงศ์พฤกษทล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด ผู้ประกอบการค้าลำไยอบแห้ง มีประสบการณ์ ทำธุรกิจมากว่า 16 ปี เล่าถึงสถานการณ์ธุรกิจลำไยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการคนไทยที่ทำธุรกิจลำไยอบแห้งอยู่ประมาณ 100 ราย ซึ่งยังไม่นับรวมคู่ค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและไต้หวัน

การแข่งขันธุรกิจลำไยค่อนข้างดุเดือด เพราะตลาดลำไยมีผลผลิตจำกัด และอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ในขณะที่ความต้องการของตลาดมีปริมาณที่สูงมาก

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพ ของลำไยในจีน ไทย เวียดนาม ที่เป็นคู่แข่ง กันเอง ลำไยของประเทศไทยมีคุณภาพดีที่สุด หอม เนื้อหนา หวาน กรอบ โดยเฉพาะพันธุ์สีทอง เขียวเบี้ยว และพันธุ์อีดอ ในขณะที่จีนและเวียดนามมีลำไยเปลือกหนา เม็ดใหญ่ เนื้อบาง

จากข้อมูลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ภาคเหนือ รายงานว่า เมื่อปี 2554 มีปริมาณการผลิต ลำไย 414,784 ตัน จาก 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ตาก น่าน แพร่ และลำปาง ซึ่งตลอดระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตเฉลี่ยใกล้เคียง กันระหว่าง 4-5 แสนตันต่อปี

ราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณลำไยที่มี จำกัด จึงทำให้ชาวสวนมีโอกาสเลือกขายราคาที่ดีที่สุด โดยราคาจะมีการเปลี่ยน แปลงวันต่อวัน

บริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด ต้องอยู่ในสถานการณ์ปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการสร้างสายสัมพันธ์กับเจ้าของสวน ที่มีมายาวนาน 16 ปี และมีโรงงานอบแห้ง อยู่ในจังหวัดลำพูน 2 แห่ง คือ อำเภอป่าซาง บนพื้นที่ 36 ไร่ และอำเภอลี้ บนพื้นที่ 40 ไร่

การทำธุรกิจลำไยจะทำตามฤดูกาล ผลผลิตออกเพียง 2 เดือน คือ กรกฎาคม และสิงหาคม จึงทำให้โรงงานอบแห้งต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลผลิต คุณภาพ โดยธรรมชาติของลำไยหากเก็บและทิ้งค้างคืนไว้จะทำให้ลำไยมีน้ำมาก เกิดการเน่าเสียได้ง่าย

ดังนั้นเตาอบต้องมีจำนวนเพียงพอเพื่อรองรับการทำงานให้ได้ภายใน 2 เดือน และบริษัท อาร์ เค ฟู้ด มีจำนวนเตาอบในโรงงานป่าซาง 60 เตา ขณะที่อำเภอลี้ มี 50 เตา ปัจจุบันทั้งสองโรงงานมีปริมาณ การผลิตลำไย (ผลสด) 19,220,000 กิโลกรัมต่อ 2 เดือน และหลังจากอบแห้ง (ผลแห้ง) จะเหลือ 6,200,000 กิโลกรัม

โดยเฉลี่ยการผลิตลำไยพันธุ์อีดอ และเขียวเบี้ยวเนื้อสด 10 กิโลกรัม เมื่อไปสู่ กระบวนการอบแห้งจะเหลืออยู่ 3 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์สีทองสด 10 กิโลกรัม ได้ลำไยอบแห้งเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น

บริษัทมองว่าช่องทางการทำธุรกิจลำไยยังมีอีกมากในอนาคต โดยเฉพาะมีพันธุ์ลำไยใหม่ ผลโต เนื้อหนา ทำให้บริษัท ตัดสินใจขยายโรงงานลำไยอบแห้งเพิ่มอีก 1 แห่งในจังหวัดเชียงราย ที่อำเภอพาน บนพื้นที่ 20 ไร่ มีตู้อบ 24 ตู้ คาดว่าโรงงาน จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้

การปรับตัวของบริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้น รับอบส่งออกในรูปแบบโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer: OEM) หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างๆ ให้กับผู้ค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและไต้หวัน

เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มหันมา สร้างแบรนด์ของตัวเอง ภายใต้แบรนด์สินค้าภาษาจีนชื่อว่า ต้าฉงเหมา โดยใช้หมีสีแดงและสีเขียว ช้างขาวเป็นสัญลักษณ์

บริษัทผลิตสินค้าในระดับพรีเมียม สินค้าจะส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น คาร์ฟูร์ และวอลล์มาร์ท ส่วนเมืองหลักๆ ที่เข้าไปทำการตลาด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น หนานจิง ชินเตา เป็นต้น

การทำตลาดในประเทศจีน บริษัทได้เข้ามาตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อทำหน้าที่มองหาตลาดใหม่ๆ และช่องทางการจำหน่าย จากพฤติกรรมการบริโภค ลำไยของจีน จะนิยมซื้อในช่วง เทศกาลสำคัญ เช่น วันสารทจีน ไหว้พระจันทร์ หรือวันตรุษจีน

“ลำไยที่ขายในประเทศ จีน คนจีนยังเข้าใจผิดว่าเป็นผลไม้ของประเทศจีนที่ผลิตมาจากฝูเจี้ยน และมีความเชื่อว่าสินค้าของไทยไม่ดี แม้ผู้ค้าลำไย จีนเองต่างก็รู้ดีว่าลำไยที่ดีที่สุด คือลำไยของเมืองไทย”

ลำไยอบแห้งที่ขายในปัจจุบัน บริษัทจะขายเนื้อทองและเนื้อดำ สำหรับเนื้อดำจะส่งออกไปประเทศเกาหลี จะนำไปผลิตเป็นยา

นอกจากนี้บริษัทยังส่งไปตลาดเวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน โดยเฉพาะสิงคโปร์จะมีนายหน้าติดต่อซื้อขายเพื่อนำไปขายต่อ โดยการส่งสินค้าของบริษัทปัจจุบันจะนำส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังและส่งต่อไปต่างประเทศ

การทำธุรกิจลำไยที่ต้องอิงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลในช่วงระยะเพียง 2 เดือน (กรกฎาคมและสิงหาคม) เพื่ออบ ส่วนเวลาที่เหลือเป็นการบริหารจัดการสต็อก สินค้า รวมถึงการทำตลาด

ดังนั้น โกดังเก็บสินค้าของบริษัท อาร์ เค ฟู้ด ที่ว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยวก็จะ รับอบข้าวโพดเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัท Syngenta จำกัด ประเทศอินเดีย

ธุรกิจลำไยของบริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด กำลังอยู่ระหว่างมองหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม และเป็นช่วงเวลาที่กาญจนาในฐานะผู้บริหารรุ่นแรกกำลังถ่ายทอดประสบ การณ์การทำงานให้กับรุ่น 2 ลูกสาวและลูกเขยที่อยู่ระหว่างการเรียนรู้

เป้าหมายหลักการทำตลาดของบริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด คือการมุ่งขยาย ตลาดในประเทศจีนที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนมากที่สุดในโลก และการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มากขึ้น ย่อมทำให้มีความ ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากประสบการณ์การทำธุรกิจของกาญจนากับประเทศจีนมาตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงสามารถพูดภาษาจีนได้จึงทำให้โอกาสเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น

ในขณะเดียวกันได้ส่งลูกสาวคนโต รดา ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน พร้อมกับลูกเขย ศรันย์ อดุลตระกูล และรดารับบทบาทผู้จัดการฝ่ายการเงิน ในขณะที่ศรันย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

เป้าหมายของศรันย์ในฐานะลูกเขย บอกว่าต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าคอนซูเมอร์มากขึ้น จาก ปัจจุบันคนที่รู้จักจะเป็นผู้ค้าด้วยกันเอง นอกจากนี้จะพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อขยายตลาดไปยุโรป โดยเฉพาะเน้นกระบวนการผลิตอาจมีเครื่องจักรทำหน้าที่ แกะลำไย เพราะมาตรฐานค่อนข้างเข้มงวด รวมถึงในอนาคตคาดว่าจะผลิตน้ำลำไยจำหน่าย เหมือนกับชาเขียวที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน

บริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัดมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจราว 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้หลักจากธุรกิจลำไยราว 900 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากอบข้าวโพดและพืชไร่ตามฤดูกาล

รายได้เกือบพันล้านบาทของธุรกิจลำไยที่ดำเนินธุรกิจหลักๆ ช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือนของบริษัท อาร์ เค ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตรายใหญ่ภาคเหนือ สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดธุรกิจลำไยท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือด ยังมีโอกาสอยู่เสมอโดยเฉพาะตลาดในจีน ที่ใครๆ ก็ยกให้เป็นพี่ใหญ่ของเอเชีย
 

ลำใยโป่งน้ำร้อน จันทบุรี โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ


  ลำใยโป่งน้ำร้อน จันทบุรี
                                                                               ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
                
             พื้นความรู้เรื่องเมืองจันทบุรี ต้องพลอยดีสีแดงทับทิมสยาม แต่ถ้าเป็นผลไม้จันทบุรี มีมากมายหลายชนิด เช่นเงาะ ทุเรียน มังคุด เพิ่งได้ความรู้ใหม่จากการไปท่องเที่ยวกับสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี จึงได้ความรู้เพิ่มเติมว่าที่อำเภอโป่งน้ำร้อน มีลำใยพันธุ์อีดอ แต่เป็นอีดอดีเกินพิกัด อยากรู้แล้วใช่ไหม?
                   
              ว่ากันว่า เมืองจันทบุรีปลูกลำใยกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ลองปลูกผิดที่ผิดทางไปบ้าง ด้วยว่าปัจจัยในการปลูกลำใยปลูกที่ไหนก็เจริญเติบโตได้  ออกดอกออกผลได้ แต่คุณภาพของผลนี่ซิมันสำคัญนัก  บางแห่งปลูกแล้วได้ลำใยที่มีน้ำในผลฉ่ำเกินไป บางแห่งปลูกแล้วผลแตกด้วยว่าแล้งเกินไป และบางแห่งก็ปลูกแล้วผลผลิตต่ำเกินไป  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยว่าปัจจัยไหนหรือที่เหมาะสมสุดๆ
                  
               จนกระทั่งพิสูจน์ทราบกันจนแน่ชัดแล้วว่า ถ้าปลูกลำใยพันธุ์อีดอดีที่สุดต้องที่อำเภอโป่งน้ำร้อน พื้นที่เป็นลอนลาด เนินเขาเตี้ยๆสลับกับที่ราบ  ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 550 -650 เมตร อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียสอุณหภูมิเมื่อหนาวระหว่าง 12-20 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนอยู่ระดับ 1,400-2,000  มม./ปี  ดินสีแดงแบบดินโคราช แต่เรื่องของดินปรุงแต่งได้
                  
               คุณชะไว  คำดี   บ้านเลขที่ 84 ม.4 บ้านคลองบอน ต.หนองตะกง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เล่าว่า ผมปลูกลำใยกว่า 10 ปีแล้วใช้พันธุ์อีดอ  จำนวน 12 ไร่ ปลูกไป 250 ต้น 15-20 วันใส่ปุ๋ยครั้งหนึ่ง ครั้งละ 3 กก./ต้น
                ก่อนถึงฤดูลำใยจะออกดอก อย่างน้อยต้นลำไยต้องมีอายุ 4-5 ปีแล้ว  จึงจะต้องเตรียมต้นด้วยการตัดแต่งกิ่งก่อน 6 เดือน     จึงเริ่มการราดสารโปแตสเซียมคลอเรท ซึ่งจะไปทำลายระบบรากลำใย  ผลคือจะไปกระตุ้นให้ลำไยออกดอก ราดราวๆ 3-4 ปีบ/ต้น  จุดที่ราดก็ตรงที่พุ่มใบตก หลังจากราดสารเร่งดังกล่าวราวๆ 20 วันลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก  หลังจากนี้จะขาดน้ำไม่ได้เลย วันหนึ่ง 200 ลิตร/ต้น 

                  
             วันนั้น คุณชะไวใจดีมาก ให้สื่อมวลชนหักกิ่งลำไยจากต้นมากินได้เลย  แต่ก็มีหลายคนเก็บเอาจากที่พนักงานของผู้ซื้อเหมาลำใยของคุณชะไวมาลองกิน  ลำใยพันธุ์อีดอที่นี่เม็ดเล็ก เนื้อหนา ไม่ฉ่ำน้ำ และไม่หวานจนเอียน รสชาติอร่อยควรบอกต่อๆไป  ปีนี้คุณชะไวได้เหมาขายให้กับผู้ซื้อเพื่อการส่งออกไปขายยังประเทศจีน เป็นเงิน 400,000 บาท  หักต้นทุนแล้วได้กำไร ชนิดที่ไม่อยากบอก กลัวถูกปล้น
                
              หน้าที่ของผมคือบำรุงหล่อเลี้ยงต้นให้แข็งแรง  ตัดแต่งทรงพุ่มให้ถูกต้องและราดสารเร่งตามกำหนดเวลา จนเมื่อออกดอกติดผลยิ่งต้องเฝ้าระวังให้เต็มกำลัง  เพื่อผลผลิตที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  แต่เมื่อถึงเวลาตัดผลผลิตออกไป เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่เหมาสวน  หลังจากเก็บผลผลิตแล้วก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องบำรุงรักษาสุขภาพต้นลำไยให้แข็งแรงพร้อมที่จะตกผลในปีต่อไป ไม่กังวลเรื่องตลาดครับ
              ในพื้นที่โป่งน้ำร้อนเท่านั้นที่มีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมที่จะปลูกลำใยมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ สนใจก็มาหาซื้อที่ดินบนเนินเขาได้ ราคายังไม่แพงนักครับ

ลำไยนอกฤดูจังหวัดจันทบุรี


 ลำไยนอกฤดูจังหวัดจันทบุรี ขายดีมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ล้งขนาดใหญ่มาตั้งเต๊นรับซื้อลำไยในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน และสอยดาว เพื่อแพ็กกล่องส่งออกต่างประเทศ ชาวสวนเพิ่มพื้นที่ปลูกลำไยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด น่าห่วงอนาคต ขณะที่ภัยแล้งเตรียมจ่อคิวเล่นงานเกษตรกร
        นายสุชาติ  จันทร์เหลือง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการขยายการปลูกลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งจังหวัดมีลำไยนอกฤดูถึง 90% จากเดิมมีพื้นที่ปลูก 105,000ไร่เศษ ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 120,000 ไร่  เดิมจะมีการปลูกเฉพาะพื้นที่ด้านบนของจังหวัด คือ อำเภอโป่งน้ำร้อนกับสอยดาว ซึ่งมีปริมาณการปลูกรวม 100,000 ไร่ แต่ ปัจจุบันหลังจากที่ลำไยนอกฤดูของจังหวัดจันทบุรีเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการรวมกลุ่ม และทำคุณภาพได้มาตรฐาน แตกต่างจากพื้นที่อื่นตรงที่ ผลใหญ่ เนื้อเยอะ รสชาติ หวานกรอบ น้ำไม่แฉะ  เมื่อปี 45 ได้มีการรวมกลุ่ม จำหน่ายโดยใช้ชื่อแบรนด์ “ลำไยจันทบุรี” กระทั่งเป็นที่ยอมรับของตลาด  ส่งผลให้ขายได้ราคาดีปัจจุบันราคาเฉลี่ยรับซื้อหน้าสวนอยู่ที่ 30-35 บาท / กก. เกรดสูงอยู่ที่ 43 บาท / กก.  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายล่วงหน้า สำหรับลำไยนอกฤดูของจังหวัดจันทบุรี จะเริ่มทำตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป จนถึงเดือนกันยายน จะมีระยะการออกสู่ตลาด 8-9 เดือน ในขณะที่ลำไยในฤดูจะมีระยะการออกสู่ตลาด 2-3 เดือน โดย ผลผลิตเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไปจนถึงเข้าสู่ฤดูกาลปกติของลำไยคือเดือนมิถุนายน 
           
         นายสุชาติ กล่าวว่า จากการเพิ่มปริมาณการปลูกซึ่งมีการขยับขยายลงมาด้านล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม  แล้ว จะสังเกตว่า ชาวสวนจะเน้นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ  และบางรายก็ใช้พื้นที่ที่เคยทำไร่มันสำปะหลังเปลี่ยนมาปลูกลำไยแทน โดยเฉพาะแนวพื้นที่ที่มีคลองส่งน้ำคลองพระพุทธพาดผ่านจนถึงบ้านแหลมมีการขยายการปลูกลำไยเพิ่มขั้น ย้อนหลังไป 3-5 ปี จะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 20,000 ไร่ ในปี 40 มีพื้นที่ปลูกลำไย เพียง 27,000 ไร่ ในช่วงที่ยังไม่มีสารเร่งดอกลำไยเข้ามา หลังจากมีสารเร่งดอกลำไยเข้ามาก็เริ่มขยับขยาย พื้นที่ปลูกแบบก้าวกระโดด จาก 27,000 ไร่ เพิ่มเป็น 40,000 เป็น 60,000 เป็น 100,000 ไร่ คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นไปทุกปี ตราบใดที่สถานการณ์ราคายังเป็นอย่างนี้อยู่ ขณะนี้ราคาเมื่อต้นเดือนเกรดสูงสุดทำได้ กก.ละ 43 บาท ส่วนใหญ่ราคาซื้อหน้าสวน เฉลี่ย 30-35 บาท   ตลาดหลัก ขณะนี้คือ จีน กับอินโดนีเซีย 
         สำหรับภาวะภัยแล้ง ปีนี้แม้ว่าจะไม่หนักเหมือนปี 48 แต่ก็ต้องลุ้นกันบ้าง โดยเฉพาะกับลำไยที่กำลังมี ลูกติดอยู่ในต้น ในปัจจุบัน มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ไร่ ของเราจะไปเก็บสิ้นสุดมิถุนายน มีลูกเล็กใหญ่สลับกันไป บริเวณ เส้นโป่งน้ำร้อน วังกระทิง แถวคลองแร้ว แถวนั้นน้ำหมดแล้ว ถ้าไม่มีฝน ส่วนใหญ่พื้นที่บริเวณนั้นปลูกเพื่อไปเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนกับธันวาคมซึ่งชาวสวนปลูกเพื่อพึ่งน้ำฝน  ยกเว้นแปลงที่มีน้ำ ก็จะเลื่อนเก็บช่วงตรุษจีน ถ้าลำไยที่จะเก็บช่วงมีนาคมเป็นต้นไป คือส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวเขตคลอง เช่นคลองโป่งน้ำร้อน คลองตะคง คลองปะตงแถวสอยดาว ถ้าฝนไม่ตกภายในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม จะมีผลกระทบ ถึง 10,000 ไร่ เพราะลำไยต้องการน้ำมากในช่วงที่กำลังขึ้นลูก ส่วนใหญ่ตอนนี้แม่ค้าตกลงซื้อกันหมดแล้ว ถ้าภัยแล้งจริง ๆ คนที่เสียหายจริง ๆ คือ คนที่ซื้อ เพราะส่วนใหญ่ หลาย ๆ สวนมัดจำวางเงินกันหมดแล้ว  
           ทีมงาน น.ส.พ.สื่อมหาชน รายงานว่า จังหวัดจันทบุรี โดย นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผวจ.จันทบุรี ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง ใน 8 อำเภอ รวม 61 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฎ โดยมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการออกให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งให้มีการประสานความร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.และ เทศบาลฯ ทุกแห่งในการจัดเตรียมรถน้ำ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อม   สำหรับประชาชน หรือ เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน จากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง และประสงค์ขอความช่วยเหลือ สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ อบต. และ เทศบาลแต่ละท้องที่ หรือที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 039312100        
           นายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน น้ำต้นทุนในจังหวัดจันทบุรีอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการความต้องการใช้จนถึงหน้าฝน แต่ทั้งนี้ต้องมีการควบควบคุมการใช้ สำหรับพื้นที่ที่หลายคนเป็นห่วงคือ อ.โป่งน้ำร้อนที่ชาวสวนปลูกลำไยกันมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่ก็ขอให้ชาวสวนสบายใจได้ เพราะทุกปีก็ไม่เคยมีปัญหาปีนี้ก็จะใช้วิธีเดิมคือการชะลอการไหลของน้ำให้มีน้ำใช้ตลอดแล้ง โดยการทำคันกั้นน้ำ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา.

ผลไม้ไทยมาแรงในตลาดจีน


ส้มเขียวหวานไทยมีแววรุ่งในตลาดจีน หลังจากทุเรียน มังคุดและลำไยประสบความสำเร็จไปก่อนหน้าแล้ว ล่าสุดผลไม้ไทยส่งไปจีนเพิ่มเท่าตัวช่วยตอกย้ำความแรงของกระแสความนิยมบริโภคผลไม้ไทย
นับจากที่ไทยมีความตกลง FTA กับจีนตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ผลไม้ไทยก็สามารถส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2554 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยมูลค่ากว่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 127% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุเนื่องจากค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ขณะที่กำลังซื้อคนจีนมีสูงขึ้น ทำให้คนจีนรู้สึกว่าผลไม้ไทยถูกลง ชาวจีนนิยมบริโภคทุเรียน มังคุด ลำไยของไทยเป็นชีวิตจิตใจ โดยภาคใต้ของจีนนิยมรับประทานทุเรียนมากที่สุด ส่วนภาคเหนือของจีนนิยมรับประทานลำไย เป็นหลัก
ดร.ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรมฯ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทสำคัญที่นำเข้าผลไม้จากไทยคือ บริษัท Shenzhen Yuanxing Fruit Co.,Ltd  ในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งมีเครือข่ายกระจายสินค้าและห้องเย็นกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนทั้งในมณฑลกวางตุ้ง  ซินเจียง เจียงซี ส่านซี ซานตง หนิงเซี่ย และหยุนหนาน นอกจากทุเรียน มังคุดและลำไยของไทยแล้ว บริษัทฯยังสนใจนำเข้าส้มเขียวหวานจากไทยด้วย เนื่องจากฤดูกาลของส้มจีนกับไทยไม่ตรงกัน จึงเป็นช่องทางการเจาะตลาดได้ดี ผู้สนใจเจาะตลาดผลไม้จีนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ paisan711@gmail.com

โอกาสของลำไยไทยในตลาดประเทศจีน


เรื่อง : โอกาสของลำไยไทยในตลาดประเทศจีน
เรียบเรียงโดย : ศรีสุข อาชา
 
ลำไยอบแห้งทั้งผลพร้อมเปลือกเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภคเนื่องจากมีสรรพคุณทางยาประกอบกับชาวจีนมีความเชื่อว่ามีลักษณะคล้ายตาของมังกร ในทางแพทย์แผนจีนลำไยอบแห้งเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด บำรุงประสาท ช่วยย่อยและบำรุงกำลัง โดยเฉพาะหลังฟื้นจากโรคหรือหลังคลอดบุตร เนื้อลำไยเป็นยาที่มีรสหวาน มีสรรพคุณทางหยาง บำรุงม้าม นอกจากนี้เนื้อและดอกลำไยแห้งใช้ผสมเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้อาการนอนไม่หลับ และเป็นยาถอนพิษ
จากคุณสมบัติที่หลากหลายของลำไยทำให้ลำไยอบแห้งกลายเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมบริโภคเป็นอาหารว่าง โดยจะเน้นที่รสชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดของเกษตรกรไทยสู่ตลาดผลไม้ของจีนที่มีความต้องการในการบริโภคลำไยอบแห้งเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนกรกฎาคม 2553 ผลผลิตของลำไยทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น515,955 ตัน แยกเป็นจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่น ๆ 134,722 ตัน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และจังหวัดแพร่ จำนวน 381,233 ตัน ขณะที่ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ประเทศไทยมีการส่งออกลำไยอบแห้งมีการไปแล้วถึง 11,764 ตัน โดยตลาดในประเทศจีนมีปริมาณการส่งออกมากที่สุดมากกว่าปีละ 10,000 ตัน รองลงมาเป็นตลาดฮ่องกงและเกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีของเกษตรกรชาวสวนลำไยในการส่งออกลำไยไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศในแถบเอเชีย ประกอบดับนโยบายลดภาษีภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ผลไม้จากอาเซียน โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีราคาลดลงอย่างมาก ทำให้ผลไม้จากประเทศไทยและอาเซียนน่าจะมีแนวโน้มที่สดใส
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สามารถผลิตลำไยได้คือ ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนามและไต้หวัน โดยเฉพาะจีนถือได้ว่าเป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในเรื่องลำไยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยซึ่งในขณะนี้ทั้งในประเทศจีนและเวียดนามต่างก็พยามยามพัฒนาผลผลิตลำไยภายในประเทศของตนให้ได้มาตรฐาน แม้จีนจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าโดยขาดมาตรฐานมาโดยตลอด แต่ในด้านของตลาดผลไม้นี้ดูเหมือนว่าทางจีนเองจะตื่นตัวไม่น้อย นายจาง หมิงเพ่ย อธิบดีกรมการเกษตรกว่างซี ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการงเร่งปรับปรุงแผนการผลิตสินค้าเกษตรเขตร้อนและเขตอบอุ่น เทคโนโลยีการแปรรูป การรักษาความสด พัฒนาให้กลายเป็นฐานการผลิตผักผลไม้ที่มีแรงแข่งขัน ซึ่งมี วิธี ได้แก่ 1) หากเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน ต้องเน้นความสดใหม่ 2) การแปรรูปผลไม้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนด้านการแปรรูป คลังเก็บสินค้า การขนส่ง ขยายโซ่การผลิตผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่า 3) เร่งส่งเสริมผลไม้ที่มีลักษณะเสริมซึ่งกันและกัน เช่น ผลไม้เขตอบอุ่น และเร่งคิดค้นและลงทุนด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการได้ใบรับรองคุณภาพสินค้าและสร้างฐานการผลิตของแบรนด์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ เน้นฝึกอบรมวิสาหกิจแปรรูปผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ แบรนด์เข็มแข็ง และกำลังการแข่งขันสูง ขยายตลาดออกสู่ทั้งในและต่างประเทศ การแข่งขันความนิยม
ดังนั้นแม้ตลาดลำไยในประเทศจีนจะยังมีอนาคตที่สดใส แต่เกษตรกรกรไทยต้องพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และคงต้องเตรียมความพร้อมในการที่จะเข้าแข่งขันกับคู่แข่ง

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
26 สิงหาคม 2553

การตัดแต่งกิ่งลำใย