เรื่อง : โอกาสของลำไยไทยในตลาดประเทศจีน
เรียบเรียงโดย : ศรีสุข อาชา
เรียบเรียงโดย : ศรีสุข อาชา
ลำไยอบแห้งทั้งผลพร้อมเปลือกเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภคเนื่องจากมีสรรพคุณทางยาประกอบกับชาวจีนมีความเชื่อว่ามีลักษณะคล้ายตาของมังกร ในทางแพทย์แผนจีนลำไยอบแห้งเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด บำรุงประสาท ช่วยย่อยและบำรุงกำลัง โดยเฉพาะหลังฟื้นจากโรคหรือหลังคลอดบุตร เนื้อลำไยเป็นยาที่มีรสหวาน มีสรรพคุณทางหยาง บำรุงม้าม นอกจากนี้เนื้อและดอกลำไยแห้งใช้ผสมเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้อาการนอนไม่หลับ และเป็นยาถอนพิษ
จากคุณสมบัติที่หลากหลายของลำไยทำให้ลำไยอบแห้งกลายเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมบริโภคเป็นอาหารว่าง โดยจะเน้นที่รสชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดของเกษตรกรไทยสู่ตลาดผลไม้ของจีนที่มีความต้องการในการบริโภคลำไยอบแห้งเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนกรกฎาคม 2553 ผลผลิตของลำไยทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น515,955 ตัน แยกเป็นจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่น ๆ 134,722 ตัน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และจังหวัดแพร่ จำนวน 381,233 ตัน ขณะที่ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ประเทศไทยมีการส่งออกลำไยอบแห้งมีการไปแล้วถึง 11,764 ตัน โดยตลาดในประเทศจีนมีปริมาณการส่งออกมากที่สุดมากกว่าปีละ 10,000 ตัน รองลงมาเป็นตลาดฮ่องกงและเกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีของเกษตรกรชาวสวนลำไยในการส่งออกลำไยไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศในแถบเอเชีย ประกอบดับนโยบายลดภาษีภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ผลไม้จากอาเซียน โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีราคาลดลงอย่างมาก ทำให้ผลไม้จากประเทศไทยและอาเซียนน่าจะมีแนวโน้มที่สดใส
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สามารถผลิตลำไยได้คือ ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนามและไต้หวัน โดยเฉพาะจีนถือได้ว่าเป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในเรื่องลำไยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยซึ่งในขณะนี้ทั้งในประเทศจีนและเวียดนามต่างก็พยามยามพัฒนาผลผลิตลำไยภายในประเทศของตนให้ได้มาตรฐาน แม้จีนจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าโดยขาดมาตรฐานมาโดยตลอด แต่ในด้านของตลาดผลไม้นี้ดูเหมือนว่าทางจีนเองจะตื่นตัวไม่น้อย นายจาง หมิงเพ่ย อธิบดีกรมการเกษตรกว่างซี ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการงเร่งปรับปรุงแผนการผลิตสินค้าเกษตรเขตร้อนและเขตอบอุ่น เทคโนโลยีการแปรรูป การรักษาความสด พัฒนาให้กลายเป็นฐานการผลิตผักผลไม้ที่มีแรงแข่งขัน ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่ 1) หากเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน ต้องเน้นความสดใหม่ 2) การแปรรูปผลไม้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนด้านการแปรรูป คลังเก็บสินค้า การขนส่ง ขยายโซ่การผลิตผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่า 3) เร่งส่งเสริมผลไม้ที่มีลักษณะเสริมซึ่งกันและกัน เช่น ผลไม้เขตอบอุ่น และเร่งคิดค้นและลงทุนด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการได้ใบรับรองคุณภาพสินค้าและสร้างฐานการผลิตของแบรนด์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ เน้นฝึกอบรมวิสาหกิจแปรรูปผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ แบรนด์เข็มแข็ง และกำลังการแข่งขันสูง ขยายตลาดออกสู่ทั้งในและต่างประเทศ การแข่งขันความนิยม
ดังนั้นแม้ตลาดลำไยในประเทศจีนจะยังมีอนาคตที่สดใส แต่เกษตรกรกรไทยต้องพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และคงต้องเตรียมความพร้อมในการที่จะเข้าแข่งขันกับคู่แข่ง
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
26 สิงหาคม 2553
No comments:
Post a Comment